พิธีหมั้น-ใส่แหวนหมั้น

พิธีหมั้นแต่เดิมมีจุดประสงค์เพื่อให้ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้อุปนิสัยใจคอ และปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งในสมัยก่อนจะต้องทำพิธีสู่ขอ โดยผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเจรจาตกลงกัน จากนั้นครอบครัวฝ่ายชายจะปลูกเรือนหอให้รอรับสะใภ้เข้าบ้าน และระหว่างการปลูกสร้าง จะจัดพิธีหมั้นกันเพื่อจับจองตัวฝ่ายหญิงไว้ก่อนถึงวันแต่งงาน เมื่อเรือนหอเสร็จจึงยกขบวนขันหมากงานแต่งไปสู่ขอฝ่ายหญิงที่บ้านนั่นเอง

 

วิธีจัดพิธีหมั้นอย่างเดียว 

หลังจากทำการสู่ขอเจรจาตกลง และสืบเชื้อสายประวัติของฝ่ายชายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มักจะให้โหร พราหมณ์ หรือพระสงฆ์เป็นผู้กำหนดฤกษ์มงคลเพื่อจัดพิธีหมั้น จากนั้นเจ้าบ่าวจะต้องเตรียม“ขันหมากหมั้น” ไปหมั้นหมายฝ่ายหญิงในวันดังกล่าว ซึ่งการจัดพิธีหมั้นเพียงอย่างเดียวจะไม่มีการแห่ หรือยกขันหมาก พร้อมทั้งรำวง และการกั้นประตูเงิน ประตูทองใด ๆ ทั้งสิ้น และที่สำคัญหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา หรือนอกใจกัน ฝ่ายนั้นสามารถยึดของในขันสินสอดไปเป็นของตัวเองได้ทั้งหมด

อุปกรณ์ในพิธีหมั้น (ขันหมากหมั้น)

  • ขันใบที่ 1 บรรจุด้วยหมากดิบฝานก้นที่ป้ายปูนแดง จำนวน 4 หรือ 8 ลูก พร้อมใบพลูแต้มปูนแดงบริเวณโคนใบ4 ถึง 8 ใบวางรอบขัน
  • ขันใบที่ 2 บรรจุค่าสินสอดที่ได้ตกลงกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง, ทอง และเครื่องประดับที่เจ้าสาวจะใส่ในวันแต่งงาน รองก้นด้วยใบเงิน, ใบทอง และใบนาก พร้อมด้วยถั่วเขียว 1 ถุง,ข้าวเปลือก1 ถุง, งาดำ1 ถุง และข้าวตอก1 ถุง จากนั้นนำผ้าลูกไม้คลุมขันใบนี้ไว้

ลำดับพิธีหมั้น 

  1. ฝ่ายชายพร้อมเถ้าแก่นำขันหมากหมั้นไปบ้านเจ้าสาว โดยไม่มีการแห่ใด ๆ ทั้งสิ้น
  2. ผู้ใหญ่จากฝ่ายชายจะชี้แจงสินสอด พร้อมเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิง   
  3. ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงรับของหมั้นโดยไม่มีการเทออกมานับ
  4. ฝ่ายชายสวมแหวนหมั้นให้ฝ่ายหญิงถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

 

พิธีหมั้น-สวมแหวน

วิธีจัดพิธีหมั้นพร้อมงานแต่ง 

ในปัจจุบันการจัดพิธีหมั้นนิยมจัดพร้อมกันกับวันแต่งงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลา ซึ่งงานหมั้นจะจัดเพียงช่วงเช้าเท่านั้น และมีเพียงญาติคนสำคัญพร้อมเพื่อนสนิทเท่านั้นที่มาร่วมงาน โดยการจัดพิธีหมั้นวันเดียวกับงานแต่งจะไม่มีการใช้ขันหมากหมั้น แต่จะมีการแห่ขันหมากแต่งงาน(ขันหมากเอก และขันหมากโท)พร้อมนับสินสอดด้วย โดยมีลำดับดังต่อไปนี้

  1. ฝ่ายชายเตรียมขันหมากเอก และขันหมากโทเพื่อใช้แห่ในวันงานแต่ง
  2. เมื่อถึงวันแต่งจะต้องทำบุญตักบาตรกับพระสงฆ์9 รูปเพื่อเป็นสิริมงคน
  3. ฝ่ายเจ้าบ่าวแห่ขันหมากเอก และขันหมากโทไปสู่ขอเจ้าสาวที่บ้าน
  4. เถ้าแก่มอบของกำนัลให้ญาติคนสนิทของเจ้าสาวเพื่อขอให้เจ้าบ่าวเดินผ่านประตูเงิน ประตูทอง โดยมีเด็กผู้หญิงของฝ่ายเจ้าสาวนำพานหมากมาต้อนรับก่อนจะนำทางไปยังบริเวณที่จัดพิธีหมั้น
  5. เมื่อถึงบริเวณพิธีหมั้นเจ้าบ่าวจะนำสินสอดที่ห่อด้วยผ้าแดง หรือเงินมาวางในพาน และทำการสู่ขอเจ้าสาว โดยเถ้าแก่ หรือแม่ของเจ้าสาวจะตรวจเช็กสินสอดของเจ้าบ่าว จากนั้นผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายจะโปรยถั่ว, ข้าวตอก,ดอกไม้,ใบเงิน และใบทองลงในพานสินสอด พร้อมอวยพรบ่าวสาว และแม่เจ้าสาวจะนำผ้าห่อสินสอดแล้วแบกขึ้นบ่ากลับเข้าห้อง 
  6. เจ้าบ่าว และเจ้าสาวทำการกราบไว้คุณพ่อ คุณแม่และญาติผู้ใหญ่
  7. เจ้าบ่าว เจ้าสาว ทำการแลกแหวนหมั้น
  8. จากนั้นเริ่มพิธีรดน้ำสังข์ ส่งตัวเข้าหอ แล้วจึงเริ่มพิธีฉลองมงคลสมรส 

อ่านต่อ: ขันหมาก จัดอย่างไร แห่สู่ขอเจ้าสาวแบบไหนถึงจะถูกวิธี

            

ไม่ว่าจะเป็นการจัดพิธีหมั้นเพียงอย่างเดียวแล้วจัดงานมงคลสมรสทีหลัง หรือรวบรัดตัดตอนพิธีหมั้นไว้ในวันเดียวกับงานแต่งก็ล้วนแต่มีความพิเศษ เพราะเป็นพิธีมงคลที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายช่วงสมัย และเป็นเรื่องน่ายินดี อย่างไรก็ตามวิธีการทั้งหมดเป็นเพียงการชี้แนะลำดับ และของที่ควรใช้ในพิธีเพียงเท่านั้น ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และความสะดวก