ขันหมาก-บ่าวสาว

ขบวนขันหมาก ถือเป็นเอกลักษณ์คู่ขวัญงานแต่งแบบไทยที่เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งพิธีการนี้เจ้าบ่าวจะยกขบวนขันหมากไปสู่ขอเจ้าสาวที่บ้าน โดยในสมัยก่อนจะต้องแห่ขบวนขันหมากถึงสองครั้ง ได้แก่ ขันหมากหมั้น และ ขันหมากแต่งงาน แต่ในปัจจุบัน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา จึงรวบงานแห่ทั้งสองไว้ในวันเดียว คงเหลือไว้เพียงขบวนแห่ขันหมากเอก และขันหมากโทเท่านั้น

 

ขันหมากคืออะไร

การยกขันหมาก หรือแห่ขันหมาก เป็นการแสดงความเคารพ และบอกกล่าวผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวว่าจะสู่ขอลูกสาวไปเป็นภรรยา

 

 

การจัดขันหมากเอก

ขันหมากเอก คือ ชุดพานเอกที่ต้องถือต่อท้ายเจ้าบ่าว, เถ้าแก่, พานต้นกล้วย และพานต้นอ้อย มี 4 พานด้วยกัน ได้แก่ พานขันหมาก, พานสินสอด, พานแหวนหมั้น และ พานเทียนธูปแพ ซึ่งพานแต่ละอย่างจะประกอบไปด้วย

  • พานขันหมาก: หมากดิบ 4 ผล, ใบพลู 4 ใบ, ใบทอง, ใบเงิน, ใบนาค, ดอกดาวเรือง, ดอกบานไม่รู้โรย, ดอกรัก และถุงเงินถุงทอง ถือโดยเด็กพรมจรรย์ หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานถูกต้องตามธรรมเนียม
  • พานสินสอด: ทองคำ, เครื่องประดับ และของมีค่าต่าง ๆ ถือโดยญาติผู้ใหญ่
  • พานแหวนหมั้น:ตกแต่งด้วยไม้มงคลพร้อมกล่องแหวนหมั้นสำหรับเจ้าบ่าว– เจ้าสาว ถือโดยพี่-น้องของเจ้าบ่าว
  • พานเทียนธูปแพ: กรวยใบตอง และกระทงธูปเทียนแพเพื่อคาราวะผู้ใหญ่

การจัดขันหมากโท

ขันหมากโท คือ ชุดพานโทที่ถือต่อท้ายขันหมากเอก ประกอบด้วยพาน 3 อย่างด้วยกันได้แก่ พานไก่ต้ม,พานหมูนอนตอง, พานผลไม้ และพานขนมมงคล 

  • พานไก่ต้ม และพานหมูนอนตอง: หมูสามชั้นต้มวางบนใบตอง
  • พานผลไม้:ชมพู่, มะพร้าว, กล้วยหอม, ส้ม และส้มโอ อย่างละคู่ 
  • พานขนมมงคล: ขนมมงคล 9 คู่ เช่น เม็ดขนุน, เสน่ห์จันทร์, ขนมชั้น, ทองเอก, ทองหยอด, ฝอยทอง,ทองหยิบ, จ่ามงกุฎ,ข้าวเหนียวแดง, ข้าวเหนียวแก้ว, หม้อแกง, ลูกชุบ และขนมถ้วยฟู เป็นต้น

วิธียกขันหมากสู่ขอเจ้าสาว

  1. เริ่มตั้งขบวนขันหมากให้ห่างจากบ้านฝ่ายหญิงพอประมาณ นำขบวนโดยเจ้าบ่าวผู้ถือพานธูปเทียนแพร หรือดอกไม้ ตามด้วยเถ้าแก่, เด็กผู้ชายนำขันหมาก, พ่อแม่เจ้าบ่าว, คนถือซองเงิน, คนถือพานต้นกล้วย, ต้นอ้อย, ขบวนขันหมากเอก (ซึ่งส่วนใหญ่ถือโดยผู้หญิง), ขบวนขันหมากโท ปิดท้ายด้วยกลองยาว และขบวนรำ
  2. เมื่อพร้อมเดินขบวน เจ้าบ่าวจะโห่ร้อง 3 ครั้ง
  3. เมื่อขบวนใกล้ถึงบ้านเจ้าสาว พานต้นกล้วย และพานต้นอ้อยจะย้ายไปอยู่หน้าสุด ในขณะที่เจ้าบ่าวจะย้ายไปอยู่หน้าขบวนรำ โดยมีเถ้าแก่ และเด็กถือขันหมากเป็นฝ่ายรับหน้าเมื่อถึงบ้านเจ้าสาว
  4. เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวจะมีการโห่รับกัน อีก 3 ครั้ง จากนั้นเด็กผู้หญิงของฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานหมากมาต้อนรับ พร้อมรับพานเทียนธูปแพจากเจ้าบ่าว
  5. ปิดท้ายด้วย ญาติ และคนในครอบครัวเจ้าสาวจะยืนกั้นเป็นประตู โดยเถ้าแก่ต้องเจรจาต่อรองมอบของกำนัลให้ญาติเจ้าสาว ประตูจึงจะเปิด โดยประตูแรกคือประตูใช้ จะใช้ผ้ากั้นไว้ ประตูที่สองคือประตูเงิน จะใช้ผ้าแพรกั้นไว้ และประตูสุดท้ายคือประตูทอง ซึ่งใช้สายสร้อยทองกั้นไว้ โดยมูลค่าของกำนัลจะต้องสูงขึ้นตามลำดับ
  6. เมื่อผ่านประตูทั้งหมดแล้ว จะตามด้วยพิธีสู่ขอ, งานหมั้น, รดน้ำสังข์, พิธีแต่งงาน ส่งตัวเจ้าบ่าว-เจ้าสาวเข้าเรือนหอ และ ฉลองมงคลสมรส

 

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการจัดขันหมาก พร้อมการเดินขบวนเพื่อสู่ขอเจ้าสาวแบบไทยที่ประยุกต์มาให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับวิถีชีวิตในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งบางครั้งสถานที่แห่ขันหมากอาจจัดขึ้นที่โรงแรม หรือหอประชุมต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่อาจมีธรรมเนียมบางอย่างที่ต่าง เช่น ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมคนล้างเท้าเจ้าบ่าวไว้ด้วย เป็นต้น ซึ่งประเพณีนี้ ถือเป็นงานมงคลที่ควรอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย และถือเป็นการให้เกียรติแก่ญาติผู้ใหญ่อีกด้วย