พิธีสู่ขอ-แหวน

พิธีสู่ขอ คือการบอกกล่าวข่าวมงคลเพื่อให้เกียรติ และแสดงความเคารพยกย่องต่อครอบครัวฝ่ายหญิง เสมือนขอความเห็นชอบจากครอบครัวฝ่ายหญิงก่อนแต่งงาน เพื่ออยู่กินฉันท์สามีภรรยาอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมไทย 

 

พิธีสู่ขอ แบบไทยเดิม

พิธีสู่ขอแต่เดิมค่อนข้างพิธีรีตรองกว่าปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่ได้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวกับงานแต่ง หรืองานหมั้น หากเถ้าแก่ของฝ่ายชายพูดคุยกับพ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่ถูกหูอาจไม่ได้แต่งงาน โดยต้องเริ่มจากการทาบทามก่อน เมื่อเจรจาตกลงเรียบร้อยจึงเข้าไปสู่ขอฝ่ายหญิงตามรายละเอียดดังต่อไปนี้:

 

การทาบทาม

ก่อนจัดพิธีสู่ขอ ฝ่ายชายต้องเชิญญาติผู้ใหญ่ที่ตนเองเคารพนับถือ หรือ “เถ้าแก่”  ไปเจรจากับญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงว่าจะยินยอมยกลูกสาวให้แต่งงานด้วยหรือไม่ ซึ่งในสมัยก่อนพ่อแม่ฝ่ายหญิงมักขอดูดวงชะตาของทั้งคู่เสียก่อน และไม่ยอมรับฝ่ายชายง่าย ๆ ซึ่งในกรณีที่ฝ่ายหญิงไม่ตอบตกลง ญาติมักยิบยกเรื่องดวงไม่สมพงศ์กันมาปฏิเสธฝ่ายชาย

ในทางกลับกัน หากพ่อแม่ฝ่ายหญิงเต็มใจยกลูกสาวให้ เถ้าแก่ก็จะสอบถามข้อเรียกร้องต่าง ๆ จากฝ่ายหญิง เช่น สินสอดทองหมั้นและเรือนหอรวมถึงวันเวลาที่ฝ่ายชายต้องมาดำเนินการสู่ขอ จากนั้นเฒ่าแก่จะแจ้งให้ฝ่ายชายเตรียมตัวมาสู่ขอฝ่ายหญิง

พิธีสู่ขอ

เมื่อถึงวันดำเนินพิธีสู่ขอ ฝ่ายชายจะต้องเชิญให้เถ้าแก่มาเจรจากับญาติฝ่ายหญิงอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะบอกเล่าถึงความรักที่มั่นคงของฝ่ายชายที่มีต่อฝ่ายหญิง และรับรองคุณสมบัติทั้งหน้าที่การงาน, ฐานะ,การศึกษา และอุปนิสัยใจคอของฝ่ายชาย ให้บ้านฝ่ายหญิงเชื่อมั่นว่าจะปกป้องดูแลลูกสาวพวกเขาได้ รวมทั้งยืนยันว่าจะมอบสินสอดทองหมั้นให้ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายหญิง จากนั้นจะตกลงกันเรื่องฤกษ์ยามเพื่อทำพิธีหมั้น

โดยฝ่ายชายจะต้องเตรียมกระเช้าผลไม้และพานธูปเทียนแพพร้อมพวงมาลัยไปกราบพ่อแม่ฝ่ายหญิง ในขณะที่ฝ่ายหญิงเองจะต้องทำความสะอาด และตกแต่งบ้านให้สวยงาม เพื่อต้อนรับบ้านฝ่ายชายไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

 

พิธีสู่ขอ-บ่าวสาว

 

พิธีสู่ขอ แบบสมัยใหม่

ปัจจุบันพิธีสู่ขอมักรวบรัดเข้ากับงานหมั้น และจัดขึ้นวันเดียวกันกับงานแต่ง เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ทางบ้านฝ่ายหญิงจะรู้จักนิสัยใจคอของฝ่ายชายมาก่อนแล้วตั้งแต่คบหากัน และบางบ้านอาจมีการพูดคุยเรื่องแต่งงานกันมาก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตามหลังจากที่คู่รักตกลงแต่งงานกัน ฝ่ายชายจะให้พ่อแม่ตนเองไปเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิงกับญาติผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการพูดคุยกันแบบเรียบง่าย หรือนัดทานข้าวที่บ้าน เป็นต้น เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงยินยอม จะเริ่มหาฤกษ์งามยามดีสำหรับวันแต่งงาน รวมทั้งตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้นของฝ่ายหญิง 

ซึ่งพิธีสู่ขอในปัจจุบันมักเริ่มหลังจากฝ่ายชายนำพานขันหมากต่าง ๆ รวมทั้งสินสอดมาวางไว้ที่โต๊ะพิธีบนเวที โดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะอยู่ด้านซ้าย และพ่อแม่ฝ่ายชายจะอยู่ด้านขวา หลังจากนั้นพิธีกรจะเชิญเถ้าแก่ของทั้งสองฝ่ายขึ้นเวที และเริ่มพิธีสู่ขอโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  •     เถ้าแก่และพ่อแม่ฝ่ายชายแนะนำตนเอง 
  •     เถ้าแก่กล่าวสู่ขอเจ้าสาว และเชิญแม่เจ้าสาวตรวจสินสอด
  •     หลังแม่เจ้าสาวพิจารณาสินสอดเรียบร้อย จะให้เจ้าบ่าวไปรับตัวเจ้าสาวจากห้องเก็บตัวขึ้นมาบนเวที โดยมีช่อดอกไม้มอบให้เจ้าสาว
  •     เจ้าสาวจะต้องขึ้นเวทีฝั่งที่พ่อแม่ฝ่ายชายนั่งอยู่ และนั่งพับเพียบฝั่งซ้ายมือของเจ้าบ่าว จากนั้นทั้งคู่จะต้องกราบผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายโดยไม่แบมือ ฝ่ายละ 3 ครั้ง 
  •     จากนั้นตามด้วยพิธีนับสินสอด, พิธีสวมแหวนหมั้น, พิธีรดน้ำสังข์, พิธีรับไหว้ และพิธีส่งตัวเข้าหอตามลำดับ

 

อ่านต่อ: ขันหมาก จัดอย่างไร แห่สู่ขอเจ้าสาวแบบไหนถึงจะถูกวิธี

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพิธีสู่ขอแบบไทยเดิมที่ต้องอาศัยการเจรจาที่ละเอียดลออ หรือพิธีสู่ขอแบบใหม่ที่เน้นความสะดวกสบาย พิธีสู่ขอทั้งสองแบบล้วนเป็นการสานต่อขนบธรรมเนียมไทยอันดีงาม ถือเป็นการบอกกล่าวให้เกียรติญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะพ่อแม่ฝ่ายหญิง ถือเป็นการเข้าตามตรอกออกทางประตู และเป็นสิริมงคลต่อชีวิตคู่อีกด้วย