พิธีรดน้ำสังข์ หรือ พิธีหลั่งน้ำสังข์ คือหนึ่งในพิธีการสำคัญของงานแต่งไทย ที่คู่บ่าวสาวเสียน้ำตามากที่สุด เพราะทั้งสองต้องรับพร และคำแนะนำในการครองเรือน จากญาติผู้ใหญ่คนสำคัญ ฉะนั้นบ่าวสาวที่กำลังแต่งงาน ควรเตรียมตัวให้ถูกก่อนเข้าพิธีรดน้ำสังข์
พิธีรดน้ำสังข์ คืออะไร?
พิธีรดน้ำสังข์ของไทยเดิมจะมีเพียง “พิธีซัดน้ำ” เท่านั้น ยังไม่มีการนำสังข์มาใช้ ซึ่งพิธีนี้จะให้พระสงฆ์นำน้ำที่ผ่านการเจริญพระพุทธมนต์ หรือ “น้ำมนต์” ใส่บาตร โดยมีเพื่อนเจ้าสาวและเพื่อนเจ้าบ่าว นั่งเบียดคู่บ่าวสาวให้แนบชิดกันมากกันขึ้น จากนั้นพระสงฆ์จะนำน้ำมนต์ในบาตรสาดใส่คู่บ่าวสาวจนตัวเปียกโชก
ซึ่งพิธีรดน้ำสังข์ในปัจจุบันจะเกิดขึ้นหลังพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดยนำน้ำพระพุทธมนต์มาบรรจุในหอยสังข์ เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่และแขกคนสำคัญ รดน้ำลงบนมือบ่าวสาว พร้อมอวยพรให้บ่าวสาวครองชีวิตคู่ยาวนานและราบรื่น ซึ่งคำอวยพรมักมาพร้อมคำแนะนำในการใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุข
โดยสาเหตุที่ต้องนำสังข์มาใช้ เพราะเชื่อกันว่าสังข์จะเสริมมงคลให้ชีวิตคู่ เนื่องจากเป็นศาสตราวุธของพระนารายณ์ อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 14 ของศักดิ์สิทธิ์ ที่ถือกำเนิดจากการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทพยดาและเหล่าอสูรกายตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ นอกจากนี้“น้ำ” ยังสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นเดียวกันอีกด้วย
ฉะนั้นการรดน้ำสังข์จึงเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว เสมือนการอวยพรให้ชีวิตคู่สงบร่มเย็นเหมือนสายน้ำ มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองเข้ามาในชีวิตคู่
อุปกรณ์รดน้ำสังข์
- สังข์
- น้ำมนต์
- ชุดโต๊ะเก้าอี้รดน้ำสังข์
- ของชำร่วย
- พานวางหอยสังข์
- พานพุ่มดอกไม้รับน้ำสังข์
- พวงมาลัยสองชายคล้องคอบ่าวสาว
- มงคลแฝดสวมศรีษะบ่าวสาว
- พานวางมงคล
- หมอนรองมือ
- แป้งเจิม
- ทิชชู่ซับน้ำตา
ใครเป็นคนรดน้ำสังข์?
หลายคนมักเข้าใจว่าใครก็สามารถรดน้ำสังข์บ่าวสาวได้ แต่ตามธรรมเนียมแล้วควรจะต้องเป็น “คนอายุมากกว่าบ่าวสาว” เท่านั้น โดยประธานในพิธีจะเป็นคนแรกที่รดน้ำสังข์พร้อมอวยพรบ่าวสาว จากนั้นตามด้วยพ่อแม่ของทั้ง 2 ฝ่าย แล้วตามด้วยญาติผู้ใหญ่คนสำคัญ พี่ชาย พี่สาว เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากบ่าวสาวไม่มีประธานในพิธี อาจให้พ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มก่อน โดยให้พ่อแม่อีกฝ่ายที่ไม่ได้เปิดพิธีการรดน้ำสังข์เป็นผู้ถอดมงคลบ่าวสาวตอนสิ้นพิธี
ลำดับพิธีรดน้ำสังข์
- บ่าวสาวจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นพิธีกรจะเชิญนั่งประจำที่ โดยฝ่ายหญิงจะนั่งทางซ้ายของฝ่ายชายเสมอ และทั้งคู่จะต้องนั่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออกเท่านั้น เพราะเป็นทิศมงคล
- ประธานในพิธีเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาว หากพระสงฆ์เป็นฝ่ายเจิม จะจับมือเจ้าบ่าวเจิมเจ้าสาวแทน โดยจะเจิมเป็นจุดสามเหลี่ยมตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
- เมื่อเจิมหน้าผากเสร็จ พ่อแม่ของบ่าวสาวจะนำมงคลแฝดที่เตรียมไว้มาคล้องศรีษะ โดยมีความยาวห่างกันเพียง 2ศอกเท่านั้น
- จากนั้นจะเริ่มพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งจะต้องมีคนคอยเติมน้ำสังข์1 คน คนรับสังข์ 1 คน และคนส่งสังข์1 คน โดยให้พ่อแม่ของบ่าวสาวเริ่มรดน้ำสังข์ก่อน และจะต้องเริ่มจากทางขวาก่อนเสมอ
- ทันทีที่สังข์จรดมือของบ่าวสาว พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่จะฝากฝั่งลูกหลานของตนเองให้อีกฝ่ายช่วยดูแล พร้อมให้พรแก่คู่บ่าวสาว
- เมื่อรดน้ำสังข์เสร็จ ให้ส่งสังข์คืนคนรับสังข์ และรับของชำร่วย โดยคนส่งสังข์จะนำสังข์ไปเติมน้ำมนต์ และมอบให้แขกคนถัดไป
- เมื่อรดน้ำสังข์จนครบทุกคน จะเชิญญาติผู้ใหญ่คนสำคัญมาถอดมงคลแฝดจากศีรษะของบ่าวสาว จากนั้นจะจับมือบ่าวสาวเพื่อส่งสัญญานให้ลุกขึ้นยืน โดยมีความเชื่อว่าผู้ที่ยืนก่อนจะเป็นใหญ่ในบ้าน แต่ถ้าหากประคับประคองกันยืนขึ้นก็จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปตลอด ในขณะด้ายจากมงคลแฝดจะต้องเก็บไว้ถาวรในที่สูงเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ เป็นความหมาย และลำดับพิธีรดน้ำสังข์ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งพิธีรดน้ำสังข์ถือเป็นพิธีที่ขั้นตอนค่อนข้างน้อย แต่ใช้เวลานาน โดยส่วนใหญ่มักกินเวลาถึง2 ชั่วโมง ฉะนั้น บ่าวสาวจะต้องเตรียมท่านั่งให้ดี เพราะอาจเกิดอาการเมื่อยหรือเป็นตะคริวระหว่างนั่งรอรอน้ำสังข์นั่นเอง
อ่านต่อ: ขันหมาก จัดอย่างไร แห่สู่ขอเจ้าสาวแบบไหนถึงจะถูกวิธี
อ่านต่อ: พิธีสู่ขอ ทำอย่างไรถึงถูกต้องธรรมเนียมไทย
อ่านต่อ: พิธีหมั้นอย่างเดียว และพิธีหมั้นพร้อมงานแต่งต่างกันอย่างไร จัดแบบไหนจึงถูกวิธี