มรกต

มรกต หรือ เขียวใสแสง มรกต คือหนึ่งในแร่รัตนชาติคู่บ้านคู่เมืองของไทยที่คนนิยมทำเป็นเครื่องประดับ แต่การเลือกซื้อมรกตเหมาะสมกับราคาที่จ่าย ควรทราบพื้นฐานเบื้องต้นของมรกตเสียก่อน 

 

มรกตคืออะไร

มรกตเป็นแร่ในตระกูล“เบริล” ที่มีค่าความแข็ง7.5 ตามโมห์สเกล และจัดเป็นหนึ่งในสี่อัญมณีล้ำค่าของโลก ซึ่งสามอย่างที่เหลือได้แก่ เพชร ทับทิม และแซฟไฟร์โดยสีเขียวของมรกตเกิดจากแร่โครเมียม และวานาเดียม 

สามารถขุดพบได้แทบทุกพื้นที่บนโลก แต่มรกตที่คุณภาพดีมีมลทินน้อย และมีสีเขียวสดที่ชัดเจน มักมาจาก โคลัมเบีย แซมเบีย และบราซิล อย่างไรก็ตามมรกตยังคงจัดเป็นแร่ที่มีมลทิน หรือตำหนิในตัวเองสูง ฉะนั้นคุณภาพของมรกตจึงถูกแบ่งโดยความสดของสี มากกว่าความสะอาด(Clarity)ของมรกตชิ้นนั้น

โดยการขุดจะไม่ใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีใดเลยนอกจากแรงมนุษย์ เพราะจะเกิดแรงกดสูง จนทำให้มรกตแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ  ฉะนั้นการนำมรกตมาทำเป็นเครื่องประดับ เช่น แหวน ต้องอาศัยช่างฝีมือดีเท่านั้น เพื่อป้องกันการบิ่น แตก หัก ซึ่งส่งผลให้ราคาเครื่องประดับที่ทำจากมรกตมีมูลค่าสูงตามด้วยเช่นกัน

 

มรกตกับความเชื่อ และความหมาย

มรกตเป็นแร่ประจำเดือนเกิดพฤษภาคม เปรียบเสมือนการเกิดใหม่และความอุดมสมบูรณ์ โดยชาวโรมันเชื่อว่ามรกตจะช่วยเรื่องให้เฉลียวฉลาด อดทน และมีความรุ่งเรือง 

นอกจากนี้มรกตยังเป็นตัวแทนแห่งความภักดี และซื่อตรงต่อคนรัก จึงนิยมมอบเป็นของขวัญในวันครบรอบต่าง ๆ และเกิดความเชื่อว่าหากนำมรกตไปให้คนรัก จะทราบว่าเขากำลังโกหกหรือพูดความจริง 

ในขณะที่บางวัฒนธรรมนิยมนำมรกตมาคลายอาการปวดตา หรือบำรุงสายตา และบ้างก็เชื่อว่ามรกตช่วยป้องกันความจำเสื่อม และมองเห็นอนาคตได้ด้วยเช่นกัน 

 

มรกต-สีเขียว

เกรด และการเลือกซื้อมรกต

มรกตถูกแบ่งเกรดด้วยสี่ปัจจัยหลักได้แก่ สี ความสะอาด คุณภาพการเจียระไน และ กะรัต โดยสิ่งที่สำคัญ และมีผลต่อราคามรกตมากที่สุดคือสี

  • สีของมรกต
    การสังเกตสีมรกตนิยมใช้เกณฑ์3 ประการ ได้แก่ เฉดสี (Hue)ความสว่างของสี(Tonal)และความเข้มของสี (Saturation)ซึ่งเฉดสียอดนิยมได้แก่เฉดสีเขียวอมน้ำเงินจากโคลัมเบีย ในขณะที่ความสว่างของสีมรกตที่ดี คือสีเขียวความสว่างระดับกลางไปจนถึงสีเขียวเข้มอย่างไรก็ตามความเข้มของสีจะต้องพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมด ไม่อ้างอิงเพียงองค์ประกอบเดียวเท่านั้น เช่น ถ้าหากคุณเลือกซื้อมรกตสีเขียวเข้มกลาง ๆ ซึ่งเป็นมรกตคุณภาพดี แต่ดูมืดทึบมากเกินไปมูลค่ามรกตชิ้นนั้นจะน้อยลง และดูจืดชืด ในขณะเดียวกันหากคุณซื้อมรกตสีเขียวอ่อน แต่ดูแจ๊ด จะได้มรกตเม็ดงามที่สะดุดตา และเป็นประกายมากกว่า
  • ความสะอาดของมรกต
    จริงอยู่ที่ความสะอาดของมรกตมีผลต่อราคา แต่เกณฑ์การสังเกตตำหนิ หรือความสะอาดของมรกตไม่มีระบุไว้ชัดเจน เพราะมรกตส่วนใหญ่ล้วนมีตำหนิ ฉะนั้นถ้ามรกตชิ้นไหนมีความใสจนไร้ตำหนิ อาจเป็นของปลอม โดยตำหนิส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักมีลักษณะคล้ายกิ่งไม้ หรือรากไม้ ซึ่งตำหนิดังกล่าวมักเกิดจากแก๊ส ของเหลว และแร่ธาตุบางชนิด อย่างไรก็ตามหากเกิดตำหนิคล้ายฟองอากาศ และมีรูปแบบการเกิดเหมือนกัน นั่นคือมรกตปลอมเช่นกัน ซึ่งตำหนิเหล่านี้ควรอยู่ลึกลงไปในเนื้อมรกต ไม่ควรเกิดบนพื้นผิวมรกต เพราะเมื่อนำมาทำเป็นเครื่องประดับเช่น แหวน จะทำให้แตก เปราะ บิ่น ได้ง่าย
  • คุณภาพการเจียระไนของมรกต
    การเจียระไนมรกต ทำได้หลากหลายรูปแบบไม่ต่างจากเพชร เพียงแต่กะรัต หรือน้ำหนักของมรกตจะขึ้นอยู่กับส่วนก้นของอัญมณี ฉะนั้นหน้าตัดของมรกต จะมีขนาดเล็กกว่า เมื่อเทียบกับเพชรที่มีกะรัตเท่ากัน และควรเจียระไนให้มีความสมมาตร เพราะจะช่วยขับแสงสีเขียวของมรกตให้เปล่งประกาย ซึ่งมรกตส่วนใหญ่นิยมเจียระไนเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือ Emerald Cut
  • กะรัต หรือน้ำหนักของมรกต
    ถึงแม้กะรัตจะมีผลต่อราคาของมรกตเฉกเช่นเดียวกับเพชร แต่กะรัตของมรกตมีความสำคัญไม่เท่าสีของมรกต ฉะนั้นการซื้อมรกตสีเขียวสด หรือสีเขียวอมน้ำเงินดูโปร่งใส แต่ไม่สว่าง หรือมืดจนเกินไป และมีเม็ดเล็ก ย่อมดีกว่าการซื้อมรกตเม็ดใหญ่ แต่สีซีดเซียว ไม่มีคุณภาพ

 

 มรกต-แหวนเพชรมรกต

การดูแลรักษามรกต

เนื่องจากมรกตเป็นแร่ที่มีตำหนิค่อนข้างเยอะ จึงควรหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิค และล้างสิ่งสกปรกด้วยมือ และน้ำอุ่นเท่านั้น ในขณะเดียวกันเพื่อป้องกันให้มรกตไม่เกิดรอยบิ่น หรือเปราะได้ง่าย ควรหมั่นเคลือบด้วยเบบี้ออยล์บ่อย ๆ

 

วิธีสังเกตมรกตแท้ มรกตเทียมเบื้องต้น

  1.   มรกตในธรรมชาติโดยส่วนใหญ่จะมีตำหนิ และถึงแม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ถ้าใช้แว่นขยายส่องดูจะพบตำหนิแน่นอน 
  2.   ตำหนิที่เกิดขึ้นในมกรตปลอม หรือแก้วที่ทำเลียนแบบมรกต จะมีลักษณะคล้ายฟองอากาศ และถูกกำหนดอย่างมีรูปแบบ
  3.   มรกตของแท้จะต้องไม่เกิดประกายกับไฟ หรือดูระยิบระยับเหมือนเพชร ฉะนั้น หากนำมรกตมาส่องใกล้แสง มรกตจะเปล่งประกาย แต่แสงที่ได้จะหม่น และไม่เกิดประกายรุ้งเด็ดขาด
  4.   หากมรกตถูกเจียระไนให้สังเกตที่ขอบมรกตว่ามีรอยบิ่น แตก หักหรือไม่ เพราะหากเป็นแก้วจะเกิดรอยบิ่นได้ง่ายมาก
  5.   มรกตปลอมมักใช้เพียงแผ่นมรกตบาง ๆ กั้นระหว่างสารโปร่งใสสีเขียวสองชิ้น ประกบกันเหมือนแซนด์วิช จนดูคล้ายมรกตจริง
  6.   ในบางครั้งอาจมีการนำชิ้นส่วนมรกตเพียงเล็กน้อย ไปแปะไว้บนพลาสติก หรือแก้วจนดูเหมือนมรกตแท้ 

 

ทั้งหมดนี้เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจหาซื้อมรกตมาสะสมไว้ หรือซื้อใส่เป็นเครื่องประดับ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมรกต ไม่มีเกณฑ์การแบ่งเกรดที่ชัดเจนเหมือนเพชร ผู้จึงต้องอาศัยประสบการณ์ในการสังเกตสี และตำหนิต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการแยกแยะระหว่างมรกตแท้ และมรกตเทียม