แหวนพลอย-ใส่แหวนพลอย

 เลือกซื้อแหวนเพชรว่ายากแล้ว…เลือกซื้อแหวนพลอยอาจยากกว่า เพราะมีหลายชนิด และทุกชนิดมีรายละเอียดที่ต่างกัน ฉะนั้น หากคุณเริ่มสะสมแหวนพลอย การศึกษาพลอยเบื้องต้น จึงจำเป็นต่อนักซื้อพลอยมือใหม่ทุกคน

 

ประเภทของพลอย

ในความเป็นจริง การแบ่งเกรดของพลอยมีมากกว่า 10 แบบ ขึ้นอยู่กับตลาด และจุดประสงค์การใช้งาน แต่ที่นิยมใช้ในไทยมักแบ่งตามค่าความแข็งซึ่งอิงจากสเกลของโมส์(Mohs’scale) และแบ่งตามแหล่งกำเนิด

แบ่งตามค่าความแข็ง 

  • พลอยเนื้อแข็ง
    พลอยที่มีค่าความแข็งเท่ากับ9 หรือ พลอยตระกูลคอรันดัม(Corundum) เช่น ทับทิม และไพลิน มักมีสีสันสวยงาม เนื้อแข็ง และทนทานต่อรอยขีดข่วนได้ดี เป็นรองเพียงเพชรที่มีค่าความแข็งเท่ากับ10 เท่านั้น
  • พลอยเนื้ออ่อน
    พลอยชนิดอื่นที่มีค่าความแข็งน้อยกว่า9 เช่น มรกต เพทาย อะมิทิสต์ และควอตซ์ เป็นต้น

 

ซึ่งพลอยเนื้อแข็ง และพลอยเนื้ออ่อน เป็นศัพท์ที่นิยมใช้ในตลาดพลอยของจังหวัดจันทบุรี อย่างไรก็ตามมูลค่าของแหวนพลอยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความแข็ง แต่ขึ้นอยู่กับ คุณค่า แหล่งที่มา ความสวยงาม  และความนิยมตามกระแสท้องตลาด 

โดยในทางกลับกัน ตลาดแหพลอยในต่างประเทศนิยมแบ่งเป็น Precious Stones หรือ พลอยที่มีค่าสูง ได้แก่ เพชร ทับทิม มรกต  และไพลิน และ Semi – Precious Stones หรือ พลอยที่มีค่ารองลงมา เช่น มุก ควอตซ์ และโอปอล เป็นต้น

แบ่งตามแหล่งกำเนิด

  • พลอยธรรมชาติ (Natural Gemstones)
    คือพลอยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากแร่ธาตุ หิน โดยใช้เวลานับล้านปีในการก่อตัวจนเกิดผลึกใต้พื้นดิน ก่อนถูกขุดขึ้นมาขัดเงา และเจียระไน โดยปราศจากการปรับปรุงคุณภาพพลอยให้ดีขึ้นด้วยวิธีอื่น
  • พลอยแท้(Genuine Gemstones)
    คือพลอยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ไม่นับเป็นพลอยธรรมชาติ หลังนำไปผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม เพราะพลอยธรรมชาติโดยส่วนใหญ่มักมีรอยบิ่น หรือสีที่ไม่สม่ำเสมอกัน เช่น ไพลินสีน้ำเงิน มักนำไปผ่านความร้อนเพื่อเร่งสีให้ชัด และสดใสขึ้น อย่างไรก็ตามไพลินธรรมชาติยังคงเป็นพลอยหายากที่มีมูลค่าสูงกว่าไพลินแท้
  • พลอยสังเคราะห์(Synthetic Gemstones)
    คือพลอยที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นในห้องแลปโดยมนุษย์ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การหลอมละลาย เป็นต้น มีคุณสมบัติทางกายภาพ และเคมีเหมือนพลอยธรรมชาติ ฉะนั้น การแยกแยะระหว่างพลอยสังเคราะห์  และพลอยธรรมชาติจึงเป็นเรื่องค่อนข้างท้าทายสำหรับนักสะสมพลอย เพราะต้องอาศัยความชำนาญสูง
  • พลอยเลียนแบบ (Simulant or imitation Gemstones)
    คือพลอยที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบพลอยธรรมชาติ โดยปราศจากคุณสมบัติทางเคมี ความสวยงาม  และความแข็งแรงทนทานที่เหมือนกับพลอยธรรมชาติโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังหมายถึงการนำพลอยชนิดใดชนิดหนึ่ง แอบอ้างเป็นพลอยอีกชนิดหนึ่ง เช่น การขายแหวนเพชรที่ใช้ เป็นต้น

 แหวนพลอย-สีน้ำเงิน

แหวนพลอยยอดนิยมในไทย

  • แหวนพลอยสีเหลือง (แหวนบุศราคัม)
    บุษราคัม (Yellow Sapphire) ถูกพบได้ในประเทศไทย และออสเตรเลีย เป็นต้น โดยเฉดสีที่มีราคาสูงในไทยคือ สีเหลืองเหล้าแม่โขง หรือเฉดสีเหลืองอมส้ม แต่ในตลาดสากลจะนิยมเฉดสีเหลืองสดนกขมิ้นมากกว่า
  • แหวนพลอยสีเขียว(แหวนมรกต)
    มรกต (Emerald) ที่ได้รับความนิยมสูงมาจากประเทศโคลัมเบีย และแซมเบีย เพราะมีสีเขียวสดแกมน้ำเงิน  และนิยมเจียระไนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัดมุม เพื่อประกายที่เงางามกว่าเดิม
  • แหวนพลอยสีแดง (แหวนทับทิม)
    ทับทิม(Ruby) นิยมเรียกอีกอย่างว่าพลอยแดง ถูกพบได้ใน ไทย พม่า และเคนย่า เป็นต้น มักมีสีแดงแกมชมพู หรือแดงแกมม่วง โดยทับทิมสีแดงสดที่ไม่คล้ำ และอ่อนจนเกินไป จะมีราคาสูงกว่าสีอื่น
  •  แหวนพลอยสีน้ำเงิน(แหวนไพลินนิลกาฬ)
    ไพลิน (Blue Sapphire) มักพบในพม่า ศรีลังกา และไทย เป็นต้น โดยสีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือสีน้ำเงินอมม่วง หรือสีดอกอัญชัน แลดูคล้ายกำมะหยี่

 แหวนพลอย-พลอยสีม่วง

วิธีสังเกตแหวนพลอยเทียม พลอยปลอมเบื้องต้น

  •     ประกายไฟ: หากเป็นพลอยเนื้อแข็ง แสง และสีที่สะท้อนจะไม่เกิดประกายสีรุ้งอย่างเด็ดขาด เพราะมีเพียงเพชรเท่านั้นที่เกิดประกายรุ้ง
  •     รูปแบบการเจียระไน: หากเป็นพลอยเนื้อแข็ง ช่างพลอยจะเจียระไนเป็นเหลี่ยมเกสร และพลอยที่ดีต้องเจียระไนได้สัดส่วนที่เหมาะสม
  •     ตำหนิ: พลอยส่วนใหญ่ที่เกิดตามธรรมชาติมักมีตำหนิในเนื้อพลอย เช่น เส้นเข็ม ผลึกไมก้า ลายหิน แพขนนก เป็นต้น ในขณะที่บางตำหนิ เช่น ฟองอากาศ หมายถึงตำหนิที่เกิดจากการผลิตพลอยในห้องแลป

 

จะเห็นได้ว่าการเลือกซื้อแหวนพลอยมีกฎเกณฑ์ที่ไม่ตายตัวเหมือนแหวนเพชร เพราะอัญมณีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน และถึงแม้จะเป็นพลอยชนิดเดียวกัน ก็มีราคาที่ต่างกันได้ ดังนั้น หากเลือกซื้อพลอยโดยไม่ศึกษาข้อมูลให้ละเอียด อาจจะต้องเสียเงินจำนวนมากให้กับแก้ว หรือพลาสติก ที่ถูกเลียนแบบให้เหมือนอัญมณีที่คุณต้องการก็เป็นได้