เพชร Lab grown เป็นเพชรแท้ทางเลือกใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศและในประเทศไทย ที่ร้าน CELI เรามีเพชร Lab grown ให้เลือกชมหลากหลายขนาด หลากหลายเกรดคุณภาพ และรูปทรง ตั้งแต่ 1-10 กะรัต เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้าที่กำลังมองหาจิวเวอรี่ราคาย่อมเยา ในคุณภาพที่เทียบเท่ากับเพชรธรรมชาติ โดยทางร้านมีให้เลือกตั้งแต่แหวนหมั้น แหวนแต่งงาน แหวนแถว แหวนรอบนิ้ว สร้อยคอ ต่างหู สำหรับงานแต่งงาน และจิวเวอรี่สวมใส่แบบ Everyday wear
สนใจขอคำปรึกษาหรือนัดชมเพชรจริงได้ที่ Line: @celi.jewelry
เพชร Lab grown คืออะไร ?
Lab grown diamond ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการอัญมณีแต่อย่างใด เพราะมีมาตั้งแต่ปี 1950 และใช้ในหลายวงการอุตสาหกรรม ทั้ง ธุรกิจด้านแสงเลอเซอร์ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ธุรกิจด้านโทรคมนาคม เป็นต้น แต่เป็นเพียงเพชรเม็ดเล็กเพียงเท่านั้น ต่อมาในช่วงกลางปี 1980 ก็เริ่มพัฒนาคุณภาพเพชรสังเคราะห์ให้มีคุณภาพเทียบเคียงกับเพชรแท้อย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดก็สามารถวางขายในร้านจิวเวอรี่ และถ้าอยากรู้ว่าเพชร lab grown จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ก็อ่านต่อได้เลย
เพชร Lab Grown คือเพชรที่สร้างขึ้นในห้องแล็บโดยใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นโดยมนุษย์ ต่างชาติจะเรียกชื่อเต็มๆ ว่า ‘Laboratory-Grown Diamonds’ หรือ ‘Man-made diamond’ ซึ่งเพชรสังเคราะห์ที่ว่านี้มีขายในท้องตลาดทั่วไป และไม่สามารถแยกออกได้ด้วยตาเปล่า ถึงแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะพิเศษในการตรวจเช็ตเชิงลึกเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในปี 2007 GIA หรือสถาบันอัญมณีศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาได้ออกเอกสารรับรองให้เพชรสังเคราะห์ เฉกเช่นเดียวกับเพชรธรรมชาติ โดยจะมีระบุไว้ในใบว่าเพชรเม็ดนี้เป็น เพชรสังเคราะห์ (Laboratory-Grown Diamonds) หรือเพชรธรรมชาติ (Natural Diamonds) โดยในเอกสารจะระบุคุณภาพของสี ความสะอาด และการเจียระไน และยังระบุอีกด้วยว่าเพชรสังเคราะห์ดังกล่าวทำมาจากกรรมวิธี CVD (Chemical Vapor Deposition) หรือ HPHT (High Pressure High Temperature)
เพชรสังเคราะห์มีกี่แบบ ?
หากอิงข้อมูลตามสถาบัน GIA จะพบว่ามีเพชรสังเคราะห์ทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่เพชรสังเคราะห์ CVD (Chemical Vapor Deposition) และเพชรสังเคราะห์ HPHT (High Pressure High Temperature) แตกต่างกันที่กรรมวิธีและเทคโนโลยีการผลิต
เพชรสังเคราะห์ HPHT (High Pressure High Temperature)
เพชรสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการ HPHT จะจำลองแรงกดดัน และอุณหภูมิที่ร้อนจัดเสมือนโลกใต้พิภพขึ้นมาในห้องแล็บ โดยคาร์บอนจะละลายไปกับโลหะหลอมเหลว ไหลผ่านโลหะลงสู่เศษเพชรสังเคราะห์หรือเศษเพชรธรรมชาติ เพื่อหล่อหลอมกลายเป็นผลึกเพชรสังเคราะห์
เพชรสังเคราะห์ CVD (Chemical Vapor Deposition)
เพชรสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการ CVD จะผลิตในห้องสุญญากาศที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอน เช่น มีเทน โดยวิธีนี้จะทำให้โมเลกุลของก๊าซมีเทนแตกตัวเป็นอะตอมของคาร์บอนและไฮโดรเจน อะตอมเหล่านี้จะนำไปฝากไว้กับเศษเพชรธรรมชาติ (Diamond Seeds) และผลิตออกมาเป็นผลึกคริสตัลสี่เหลี่ยมหรือเพชรสังเคราะห์
อ่านต่อ: เพชร CVD เพชรแท้หรือเพชรเทียม? และทุกสิ่งทีต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อ
ซึ่งกระบวนการผลิตเพชรสังเคราะห์ทั้งสองแบบนี้ใช้เวลาสร้างในหลัก 2-5 ปีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดเพชรที่ต้องการผลิต ต่างจากเพชรธรรมชาติที่ต้องอาศัยระยะเวลาร่วมหลายร้อยล้านปี อีกทั้งยังเลี่ยงการทำลายธรรมชาติเพื่อทำเหมือง เช่น การขุดเจาะพื้นดิน หรือถางป่า เป็นต้น
เพชรสังเคราะห์ต่างจากเพชร CZ (Cubic Zirconia) อย่างไร ?
เพชร CZ หรือเพชรคิวบิกเซอร์โคเนียเป็นเพียงคริสตัลชนิดหนึ่งที่นิยมใช้แทนเพชร มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ แร่เซอร์โคเนียม และแมกนีเซียม เนื้อจะไม่ใช่ carbon เหมือนเพชร Lab หากดูผิวเผิน เพชร CZ อาจจะดูคล้ายเพชรแต่ไม่เหมือนซะเท่าไหร่ นักอัญมณีสามารถแยกออกด้วยตาเปล่า ในขณะที่เพชร Lab Grown จะไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ตาม อีกทั้งเพชรสังเคราะห์ยังมีคุณสมบัติทางเคมี และระดับความแข็งเท่าเพชรธรรมชาติอีกด้วย จึงเรียกได้ว่าเพชร CZ มีความแตกต่างจากเพชร Lab ค่อนข้างมาก และเพชร CZ ถูกจัดเป็นเพชรปลอม 100% เพราะเนื้อไม่ใช่ carbon
เพชร Lab grown ต่างจากเพชรธรรมชาติอย่างไร ?
อย่างที่ทราบกันมาแล้วว่าเพชรสังเคราะห์ถูกสร้างขึ้นมาในห้องแล็บ เพชรสังเคราะห์จึงมีคุณสมบัติทางเคมี และทางกายภาพที่แทบไม่ต่างจากเพชรธรรมชาติเลย เพราะเพชรสังเคราะห์ที่เกิดจากกระบวนการ CVD และ HPHT ต้องอาศัยเศษเพชรแท้ หรือเศษเพชรธรรมชาติ ผนวกกับคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดเพชรตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน GIA ได้แจงข้อสังเกตของความแตกต่างระหว่างเพชรธรรมชาติและเพชรสังเคราะห์ไว้ดังนี้
- รูปทรงคริสตัล
ถึงแม้อุณหภูมิที่ก่อให้เกิดเพชรทั้งใต้พิภพและในห้องแล็บจะเป็นอุณหภูมิเดียวกัน แต่เพชรธรรมชาติจะเกิดขึ้นมาพร้อมหน้าเพชร 8 ด้าน ในขณะที่เพชรสังเคราะห์อาจเกิดมาพร้อมหน้าเพชร 8 หรือ 6 ด้าน (ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์)
- สี
สีของเพชรสังเคราะห์ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ ไร้สี (Colorless) = D-F และเกรดเกือบไร้สี (Nearly-Colorless) = G-I และสีเหลืองอมน้ำตาล แทบจะไม่มีเพชรสีฟ้า เพชรสีแดง เพชรสีชมพู หรือเพชรแฟนซีสีอื่นเลย ซึ่งต่างจากเพชรธรรมชาติที่เพชรแฟนซีเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้เอง อย่างไรก็ตามเพชรสังเคราะห์สามารถนำไปปรับปรุงคุณภาพสี หรือเปลี่ยนสี ด้วยกรรมวิธีเดียวกับเพชรธรรมชาติ
- ตำหนิ
ไม่ว่าจะเป็นเพชรธรรมชาติ หรือเพชรสังเคราะห์ ต่างมีตำหนิที่หลากหลาย และค่อนข้างคล้ายกัน กระบวนการนี้จึงไม่นิยมในการใช้แยกระหว่างเพชรธรรมชาติ และเพชรสังเคราะห์
- การเจียระไน
ความจริงแล้วเพชรสังเคราะห์และเพชรธรรมชาติมีวิธีและรูปแบบการเจียระไนเหมือนกันทุกขั้นตอน ซึ่งเพชรทรงกลมเป็นทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่เพชรสังเคราะห์ ในส่วนของเหลี่ยมการเจียรไนที่จะกระทบประกายไฟและการกระจายแสงนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคและองศาในการเจีย ไม่ขึ้นอยู่กับต้นกำเนิดของเพชร ดังนั้นก็แปลว่าทั้งเพชรธรรมชาติและเพชรสังเคราะห์จะมีเม็ดที่เป็นคัตติ้ง Ideal cut และ ไม่ใช่ Ideal cut ปะปนกันอยู่ ต้องอาศัยความรู้และเทคนิคในการเลือกเพชรเหมือนกันทั้ง 2 ประเภท
เพชรสังเคราะห์ราคาเท่าไหร่ ?
เพชรสังเคราะห์ส่วนใหญ่จะมีราคาต่ำกว่าเพชรธรรมชาติราว 10-20 เท่า ขึ้นอยู่กับขนาดกะรัต ยิ่งใหญ่ยิ่งต่างกันเยอะ เช่น
1 กะรัต น้ำ 98 (F) VVS เพชรธรรมชาติราคาประมาณ 300,000 บาท เพชรสังเคราะห์จะราคาประมาณ 30,000 บาท
2 กะรัต น้ำ 98 (F) VVS เพชรธรรมชาติราคาประมาณ 1,000,000 บาท เพชรสังเคราะห์จะราคาประมาณ 60,000 บาท
3 กะรัต น้ำ 98 (F) VVS เพชรธรรมชาติราคาประมาณ 2,500,000 บาท เพชรสังเคราะห์จะราคาประมาณ 120,000-130,000 บาท
ซึ่งเพชร Lab ของร้าน CELI จะมีใบรับรองคุณภาพจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ได้แก่ สถาบัน GIA และ IGI ทุกเม็ด
ไม่ว่าจะเลือกซื้อเพชรสังเคราะห์ หรือเพชรธรรมชาติก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลของผู้ซื้อตราบใดที่รู้ว่าตัวเองซื้อเพชรสังเคราะห์หรือเพชรธรรมชาติ แต่ที่สำคัญที่สุดคือไม่ว่าคุณจะซื้อเพชรประเภทใดเพชรจะต้องมีใบเซอร์ออกโดยสถาบันนอกเท่านั้น เพราะเค้าจะตรวจและกำหนดไว้ว่าเป็นเพชรประเภทใด คุณภาพใด และจะมียิงเลเซอร์ตัวเลขเป็น ID ไว้บนขอบเพชรให้อีกด้วย
ปรึกษาทีมนักอัญมณีศาสตร์ของ CELI ได้ที่ Line: @celi.jewelry