ขบวนขันหมาก ถือเป็นเอกลักษณ์คู่ขวัญงานแต่งแบบไทยที่เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งพิธีการนี้เจ้าบ่าวจะยกขบวนขันหมากไปสู่ขอเจ้าสาวที่บ้าน โดยในสมัยก่อนจะต้องแห่ขบวนขันหมากถึงสองครั้ง ได้แก่ ขันหมากหมั้น และ ขันหมากแต่งงาน แต่ในปัจจุบัน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา จึงรวบงานแห่ทั้งสองไว้ในวันเดียว คงเหลือไว้เพียงขบวนแห่ขันหมากเอก และขันหมากโทเท่านั้น
ขันหมากคืออะไร
การยกขันหมาก หรือแห่ขันหมาก เป็นการแสดงความเคารพ และบอกกล่าวผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวว่าจะสู่ขอลูกสาวไปเป็นภรรยา
การจัดขันหมากเอก
ขันหมากเอก คือ ชุดพานเอกที่ต้องถือต่อท้ายเจ้าบ่าว, เถ้าแก่, พานต้นกล้วย และพานต้นอ้อย มี 4 พานด้วยกัน ได้แก่ พานขันหมาก, พานสินสอด, พานแหวนหมั้น และ พานเทียนธูปแพ ซึ่งพานแต่ละอย่างจะประกอบไปด้วย
- พานขันหมาก: หมากดิบ 4 ผล, ใบพลู 4 ใบ, ใบทอง, ใบเงิน, ใบนาค, ดอกดาวเรือง, ดอกบานไม่รู้โรย, ดอกรัก และถุงเงินถุงทอง ถือโดยเด็กพรมจรรย์ หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานถูกต้องตามธรรมเนียม
- พานสินสอด: ทองคำ, เครื่องประดับ และของมีค่าต่าง ๆ ถือโดยญาติผู้ใหญ่
- พานแหวนหมั้น:ตกแต่งด้วยไม้มงคลพร้อมกล่องแหวนหมั้นสำหรับเจ้าบ่าว– เจ้าสาว ถือโดยพี่-น้องของเจ้าบ่าว
- พานเทียนธูปแพ: กรวยใบตอง และกระทงธูปเทียนแพเพื่อคาราวะผู้ใหญ่
การจัดขันหมากโท
ขันหมากโท คือ ชุดพานโทที่ถือต่อท้ายขันหมากเอก ประกอบด้วยพาน 3 อย่างด้วยกันได้แก่ พานไก่ต้ม,พานหมูนอนตอง, พานผลไม้ และพานขนมมงคล
- พานไก่ต้ม และพานหมูนอนตอง: หมูสามชั้นต้มวางบนใบตอง
- พานผลไม้:ชมพู่, มะพร้าว, กล้วยหอม, ส้ม และส้มโอ อย่างละคู่
- พานขนมมงคล: ขนมมงคล 9 คู่ เช่น เม็ดขนุน, เสน่ห์จันทร์, ขนมชั้น, ทองเอก, ทองหยอด, ฝอยทอง,ทองหยิบ, จ่ามงกุฎ,ข้าวเหนียวแดง, ข้าวเหนียวแก้ว, หม้อแกง, ลูกชุบ และขนมถ้วยฟู เป็นต้น
วิธียกขันหมากสู่ขอเจ้าสาว
- เริ่มตั้งขบวนขันหมากให้ห่างจากบ้านฝ่ายหญิงพอประมาณ นำขบวนโดยเจ้าบ่าวผู้ถือพานธูปเทียนแพร หรือดอกไม้ ตามด้วยเถ้าแก่, เด็กผู้ชายนำขันหมาก, พ่อแม่เจ้าบ่าว, คนถือซองเงิน, คนถือพานต้นกล้วย, ต้นอ้อย, ขบวนขันหมากเอก (ซึ่งส่วนใหญ่ถือโดยผู้หญิง), ขบวนขันหมากโท ปิดท้ายด้วยกลองยาว และขบวนรำ
- เมื่อพร้อมเดินขบวน เจ้าบ่าวจะโห่ร้อง 3 ครั้ง
- เมื่อขบวนใกล้ถึงบ้านเจ้าสาว พานต้นกล้วย และพานต้นอ้อยจะย้ายไปอยู่หน้าสุด ในขณะที่เจ้าบ่าวจะย้ายไปอยู่หน้าขบวนรำ โดยมีเถ้าแก่ และเด็กถือขันหมากเป็นฝ่ายรับหน้าเมื่อถึงบ้านเจ้าสาว
- เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวจะมีการโห่รับกัน อีก 3 ครั้ง จากนั้นเด็กผู้หญิงของฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานหมากมาต้อนรับ พร้อมรับพานเทียนธูปแพจากเจ้าบ่าว
- ปิดท้ายด้วย ญาติ และคนในครอบครัวเจ้าสาวจะยืนกั้นเป็นประตู โดยเถ้าแก่ต้องเจรจาต่อรองมอบของกำนัลให้ญาติเจ้าสาว ประตูจึงจะเปิด โดยประตูแรกคือประตูใช้ จะใช้ผ้ากั้นไว้ ประตูที่สองคือประตูเงิน จะใช้ผ้าแพรกั้นไว้ และประตูสุดท้ายคือประตูทอง ซึ่งใช้สายสร้อยทองกั้นไว้ โดยมูลค่าของกำนัลจะต้องสูงขึ้นตามลำดับ
- เมื่อผ่านประตูทั้งหมดแล้ว จะตามด้วยพิธีสู่ขอ, งานหมั้น, รดน้ำสังข์, พิธีแต่งงาน ส่งตัวเจ้าบ่าว-เจ้าสาวเข้าเรือนหอ และ ฉลองมงคลสมรส
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการจัดขันหมาก พร้อมการเดินขบวนเพื่อสู่ขอเจ้าสาวแบบไทยที่ประยุกต์มาให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับวิถีชีวิตในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งบางครั้งสถานที่แห่ขันหมากอาจจัดขึ้นที่โรงแรม หรือหอประชุมต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่อาจมีธรรมเนียมบางอย่างที่ต่าง เช่น ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมคนล้างเท้าเจ้าบ่าวไว้ด้วย เป็นต้น ซึ่งประเพณีนี้ ถือเป็นงานมงคลที่ควรอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย และถือเป็นการให้เกียรติแก่ญาติผู้ใหญ่อีกด้วย