การฝังเพชร-ฝังเพชร

การฝังเพชร ความจริงแล้วมีหลากหลายวิธี แต่ที่พบเห็นในท้องตลาดปัจจุบัน จะมีทั้งหมด 7 แบบ โดยวิธีฝังเพชรที่ดีที่สุด จะขึ้นอยู่กับกิจวัตรประจำวัน และโอกาสที่จะสวมใส่แหวนวงนั้น เพราะแต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน ฉะนั้นก่อนเลือกซื้อแหวนเพชรให้คู่หมั้น ให้ตัวเอง หรือให้คนสำคัญ ควรรู้จักวิธีการฝังเพชรดังต่อไปนี้เสียก่อน 

 

การฝังเพชร-หนามเตย

1. ฝังหนามเตย (Prong Setting)

หนามเตยเป็นการฝังที่ได้ความนิยมมากที่สุด โดยมีลักษณะเป็นก้านหรือขายึดเกาะเพชรให้ติดกับตัวเรือน จำนวนขาที่นิยมได้แก่ หนามเตย 3 ขา 4 ขา และ 6 ขา ซึ่งตัวเรือนมีลักษณะโปร่ง แสงลอดผ่านเพชรได้ง่าย ทำให้เพชรเล่นไฟได้ดีขึ้น และโดดเด่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หนามเตยยังยึดเกาะเพชรได้หลากหลายรูปทรง ทำความสะอาดง่าย และคลาสสิกมากที่สุดในบรรดาการฝังเพชรทั้งหมด

 

ข้อควรระวัง

  •     หนามเตยที่ชูสูงเกินไปมักเกี่ยวติดเสื้อผ้า ผม เฟอร์นิเจอร์ และวัตถุอื่น ๆ ได้ง่าย ฉะนั้นหากต้องใสเป็นประจำทุกวัน ไม่ควรชูหัวเพชรให้สูงมากเกินไป
  •     หากสวมใส่เป็นประจำ ก้านหนามเตยจะหลวมขึ้น ควรนำก้านหนามเตยไปปรับให้แน่นทุก 2 ปี 
  •     ขอบเพชรอาจบิ่นหากถูกกระแทกบ่อย ๆ

อ่านต่อ: หนามเตยมีกี่แบบ แบบไหนเหมาะกับเพชรของคุณมากที่สุด

 

การฝังเพชร-ฝังล้อม

2. ฝังล้อม (Halo Setting)

การฝังเพชรล้อมคือการนำเพชรเม็ดเล็กมาฝังรอบเพชรเม็ดกลางหรือเพชรเม็ดใหญ่ที่สุด เพื่อดึงความโดดเด่นให้เพชรเม็ดกลางดูมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่ากะรัตน้ำหนักจริง ทำให้เพชรเปล่งประกายได้ดียิ่งขึ้น ช่วยยึดเกาะเพชรเม็ดกลางให้มั่นคง และเข้ากับเพชรหลากหลายรูปทรง เหมาะกับผู้ที่ต้องการเลือกซื้อเพชรเม็ดกลางที่ขนาดไม่ใหญ่มาก หรือมีงบจำกัด 

 

ข้อควรระวัง

  •     เพชรเม็ดเล็กที่ล้อมรอบเม็ดกลางมักหลุดหายได้ง่าย
  •     ปรับไซส์ได้ยากโดยเฉพาะแหวนที่ผนวกการฝังแบบจิกไข่ปลาไว้ที่บ่าแหวน

 

การฝังเพชร-ฝังจิกไข่ปลา

3. ฝังจิกไข่ปลา (Pavé Setting)

การฝังจิกไข่ปลาคือการฝังเพชรที่เลียนแบบลักษณะการปูถนน เป็นการนำเพชรเม็ดเล็กมายึดติดกันด้วยเม็ดโลหะกลมเป็นแพรอบตัวเรือน ซึ่งเม็ดโลหะจะมีขนาดเล็กมาก ฉะนั้นหากเลือกใช้ตัวเรือนเป็นทองคำขาวหรือแพลทินัม จะเกิดระยิบระยับเป็นประกายมากเป็นพิเศษ โดยส่วนใหญ่นิยมใช้เพชรราว 0.5 – 2 ตังเพียงเท่านั้น ซึ่งการฝังเพชรแบบนี้เหมาะสำหรับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เพราะค่อนข้างแข็งแรงเป็นพิเศษ หากมีเพชรเม็ดกลางชูเพชรให้โดดเด่นและเล่นไฟมากขึ้น

 

ข้อควรระวัง

  •     ปรับไซส์ได้ยากมากโดยเฉพาะแหวนที่ฝังเพชรแบบจิกไข่ปลาเต็มวง
  •     เพชรอาจมีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่จะหลุดหายไปบ้าง 

 

อ่านต่อ: แหวนทองคำขาว หรือ แหวนแพลทินัม อะไรดีกว่ากัน

 

การฝังเพชร-ฝังจม

4. ฝังเหยียบหน้า หรือฝังจม (Swiss/ Flush / Gypsy Setting)

การฝังเพชรแบบจมจะนำเพชรฝังลงไปบนตัวเรือนแหวน โดยเพชรจะมีลักษณะเรียบไปกับตัวเรือน ป้องกันการหลุดร่วงของเพชรได้เป็นอย่างดีเพราะยึดเกาะแน่นหนา เหมาะกับผู้ที่ใช้มือในการทำกิจกรรมตลอดเวลา หรือต้องการสวมใส่แหวนเป็นประจำ ส่วนใหญ่มักใช้เป็นแหวนแต่งงานของผู้ชาย เพราะแหวนค่อนข้างเรียบ อย่างไรก็ตามการฝังเพชรแบบนี้ไม่เหมาะกับอัญมณีที่เปราะบาง เพราะช่างเพชรจะต้องใช้ค้อนทุบอัญมณีชิ้นนั้นให้ยึดติดอยู่บนหลุมของตัวเรือนแหวน 

 

ข้อควรระวัง

  •     ตัวเรือนแหวนจะบดบังความงามของเพชร เพราะแสงไฟไม่สามารถลอดผ่านเพชรได้ ทำให้เพชรไม่เล่นไฟอย่างที่ควรจะเป็น
  •     ไม่ค่อยโดดเด่นสะดุดตาเท่าที่ควร แต่เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบความเรียบง่าย

 

การฝังเพชร-ฝังหนีบ

5. การฝังหนีบ(Tension Setting)

การฝังเพชรแบบหนีบจะอาศัยแรงดันจากโลหะที่ประกบเพชรเม็ดกลางอยู่ โดยอาศัยร่องเล็ก ๆ ยึดขอบเพชรไว้ ซึ่งหน้าเพชรจะเรียบเสมอไปกับตัวเรือน จึงเหมาะกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน หรือผู้ที่ต้องทำกิจกรรมหนัก ๆ ทุกวัน เพราะค่อนข้างแข็งแรงและเกิดรอยขูดขีดที่หน้าเพชรได้ยากพอสมควร มีดีไซน์ที่ทันสมัย แปลกตา เป็นการฝังเพชรที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน

 

ข้อควรระวัง

  •     ทำได้ยากพอสมควร ควรอาศัยช่างมากประสบการณ์เท่านั้น เพราะต้องเลเซอร์ร่องให้พอดีกับขอบเพชร 
  •     หากใช้ตัวเรือนแหวนที่หนามากเกินไปอาจทำให้เพชรมีขนาดกะรัตน้ำหนักแลดูเล็กลงกว่าความเป็นจริง
  •     เพชรอาจหลุดหายได้หากเกิดการกระแทกที่รุนแรง
  •     ปรับไซส์ได้ค่อนข้างยาก และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
  •     ต้องเลือกเพชรคุณสูงเท่านั้น เพราะไม่มีหนามเตยช่วยปกปิดตำหนิใด ๆ ของเพชร

 

การฝังเพชร-หุ้ม

6. ฝังหุ้ม(Bezel Setting)

การฝังเพชรแบบหุ้มค่อนข้างคล้ายกับการฝังเพชรแบบหนามเตย แต่ปกป้องเพชรการแรงกระแทกได้ดีกว่า เพราะโลหะจะหุ้มรอบเม็ดเพชร หรือจะเลือกหุ้มเพียงบางส่วนก็ได้ ดีไซน์ดูทันสมัยตลอดเวลา เก็บรักษาดูแลและทำความสะอาดง่าย ไม่เกี่ยวติดผมเผ้า เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการฝังเพชรที่แข็งแรงมากที่สุด เหมาะกับผู้ที่ต้องเน้นความคล่องตัวในการทำกิจกรรมแต่ละวัน

 

ข้อควรระวัง

  •     เพชรไม่ค่อยโดดเด่นระยิบระยับเท่าไหร่ เพราะแสงสอดผ่านได้น้อยมาก โดยเฉพาะหากเลือกฝังหุ้มล้อมรอบเม็ดทั้งเพชร 
  •     เพชรมีขนาดเล็กกว่าความเป็นจริงเพราะถูกบดบังด้วยโลหะที่ล้อมอยู่

 

การฝังเพชร-ล็อก

7. ฝังแบบล็อก สอด(Channel Settings)

การฝังเพชรแบบสอดเหมาะกับผู้ที่อยากสวมใส่ได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่ต้องพะวงเรื่องความปลอดภัยของเพชร เป็นการฝังที่นำเพชรมาเรียงกันเป็นแถวโดยไม่มีโลหะใดมาขวางระหว่างเพชรแต่ละเม็ด ทำให้เพชรเปล่งประกายได้ดี ส่วนใหญ่นิยมใช้เป็นแหวนแต่งงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการสวมทั้งแหวนหมั้น และแหวนแต่งงานไว้ในนิ้วเดียวกัน เพราะเป็นเพียงแหวนเส้นเดียว ไม่มีเพชรเม็ดกลาง หากต้องเลือกใส่แหวนใดแหวนหนึ่ง แหวนฝังแบบสอดถือเป็นตัวตายตัวแทนที่ปลอดภัย ไม่เกี่ยวผม และกันเพชรบิ่นได้ดี

 

ข้อควรระวัง

  •     ปรับไซส์แหวนลำบากพอสมควร และอาจทำให้แหวนเสียสมดุลเพราะต้องลดทอนหรือเพิ่มจำนวนเพชรที่สอดไว้ในตัวเรือนแหวน 
  •     ฝุ่นฝังตัวตามซอกเพชรได้ง่าย จึงทำความสะอาดได้ค่อนข้างยาก

 

จะเห็นได้ว่าการฝังเพชรที่ปกปิดตัวเพชรมาก เช่น การฝังหุ้ม การฝังหนีบ การฝังจม การฝังสอด จะแข็งแรงคงทนมากกว่าการฝังเพชรแบบอื่น จึงเป็นแหวนที่เหมาะกับการสวมใส่ระหว่างทำกิจกรรม หรือต้องใส่เป็นประจำ ในขณะที่การฝังเพชรแบบหนามเตย อาจทำให้เพชรบิ่น เป็นรอย หรือสูญหายได้ แต่จะทำให้เพชรเล่นไฟ และเปล่งประกายได้ดีกว่าการฝังแบบอื่น 

 

อย่างไรก็ตามหากต้องการซื้อแหวนหมั้น แหวนแต่งงาน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกการฝังเพชรแบบไหน สามารถแวะเข้ามาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีที่ร้าน Celi (เซ-ลี่) ได้ ทางร้านยินดีให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังการเลือกซื้อ และยังช่วยคัดสรรแหวนวงที่คุ้มค่ากับงบประมาณมากที่สุดได้อีกด้วย 

 

อ่านต่อ: แหวนหมั้น แหวนแต่งงาน ต่างกันไหม ซื้อแบบไหนให้ตอบโจทย์งบคู่รัก